งานสัมมนา สินทรัพย์ดิจิทัล “Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” โดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ที่เพิ่งปิดฉากลงไป มีตัวแทนภาครัฐ อาทิ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ขณะที่ภาคเอกชนนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI, นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนสเทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) และ นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิก บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ทั้ง 2 ภาคส่วนสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ที่นับวันจะมีบทบาทต่อชีวิตและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่สนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี, NFT (nonfungible token) และ Metaverse หรือโลกเสมือน มากกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หุ้น ฯลฯ
ในประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก เห็นได้จากยอดการซื้อ-ขาย รวมไปถึงการเปิดบัญชีเพื่อลงทุน ในช่วงเวลาแค่ 2-3 ปี โตพรวดหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้กระทรวงการคลัง รวมถึง ธปท.ต้องเร่งออกมาตรการควบคุมอย่างใกล้ชิด
ที่น่าสนใจคือทุกวันนี้ โลกเราอยู่ในยุค “web 2.0” โลกของการสร้างพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนโมบาย ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วยข้อมูล หรือค่าบริการอินเทอร์เน็ตรายเดือน และเริ่มก้าวเข้าสู่ยุค “web 3.0” ยุคของ game developer เกิดนวัตกรรมโปรดักต์ใหม่ ๆ ทั้ง decentralized finance การเงินแบบไร้ตัวกลาง และ NFT
ประเมินว่าใน 10 ปีจากนี้ กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับ “web 3.0” จะมีบทบาทอย่างจริงจัง และเมื่อเวลานั้นมาถึง ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คล้าย ๆ กับการมาถึงของ “web 2.0” ที่เปลี่ยนพฤติกรรมคนทั่วโลก ไปใช้ชีวิตกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ใช้เวลาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น
แม้ทางหนึ่ง “web 3.0” จะสร้างโอกาสมากมาย สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงด้วย โดยเฉพาะกับคนที่กระโดดเข้าสู่วงการนี้ด้วยความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริงเพียงพอ
จึงเป็นเรื่องที่ชอบแล้วหากภาครัฐต้องเข้ามาดูแล แต่ต้องตระหนักว่ากฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นนั้น เพื่อป้องกันความเสียหาย หรือขัดขวางการเข้าถึงกันแน่ อย่างไรเสียการเติบโตของนวัตกรรมต่าง ๆ ในยุค “web 3.0” ยากหลีกเลี่ยงได้ เพราะนี่คืออนาคตที่คนไทยและทั่วโลกต้องเผชิญ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance