อดีตผู้ว่าการ ธปท. “ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” ห่วงภาครัฐ ปล่อยงบประมาณขาดดุลนานเกินไป ภาระหนี้สูงต่อเนื่อง ชี้ฐานะการคลังขณะนี้ซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะมาก หากไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.)กล่าวในงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้ภาครัฐอยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะการที่งบประมาณขาดดุล และขาดดุล ติดต่อกันมานานมาก ขณะที่ภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าปัจจุบันอาจไม่ต้องระมัดระวังเหมือนสมัยก่อน ที่เราอาจจะพูดเรื่องการคลังที่ยั่งยืน ถ้างบประมาณขาดดุลมากเกินไป เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องแก้ไข
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่เจอภาวะ งบประมาณขาดดุล พร้อมกันทั้ง งบประมาณขาดดุล และดุล บัญชีเดินสะพัดขาดดุล (Twins Deficit) เพราะดุลบบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล หรือเงินออมส่วนรวมก็มี แต่ภาครัฐขณะนี้ มีงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องกันมา จนทำให้คนเชื่อกันว่า เรื่องประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไป ซึ่งหากมองจริงๆ จะเห็นว่า ฐานะการคลังตอนนี้ ซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะมาก
เมื่อไหร่ที่นโยบายการคลังไม่สามารถดูแลตัวเอง ให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน และสิ่งหนึ่งที่อยากจะเสริมคือ หลายเรื่องปัญหาเกิดขึ้น ต้นเหตุอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจจริง(Real Sector) หรือคนอื่นเป็นคนทำ แล้วมันก็มาโผล่ที่การเงินว่า การเงินไม่มีเสถียรภาพ เราอยู่ปลายเหตุ และเป็นคนที่รับภาระต้องแก้อยู่คนเดียว
“ดังนั้น เราเองคงต้องพยายามออกแรงมากขึ้น ผู้ว่าการ ธปท.ต้องพยามยามพูดคุยกับรัฐบาล แม้ว่า เขาไม่ค่อยฟัง และยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่เราให้ดีที่สุด และถ้าเมื่อไหร่ ที่เรามีความจำเป็นต้องทำนโยบายเข้มงวด ในขณะที่คนอื่นเขาไม่ชอบ ผมคิดว่า เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้าย ในที่สุดเราก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกไปอยู่ที่ไหน”นายชัยวัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความเชื่อมโยงงานของธปท.กับตลาดทุนมีมากขึ้น อย่างเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ก็เห็นชัดว่า ทั้ง 2 หน่วยงานออกมาใกล้เคียงกันที่จะบอกว่า เราเห็นความเสี่ยงอะไร และบางอย่างก็ใช้ความเป็นหน่วยงานกำกับว่า จะไม่สนับสนุนให้ทำ เป็นการออกแรงที่ทันสมัย
“ผมอยากยกประเด็นว่า การทำงานของแบงก์ชาติในอนาคต อาจจะยากลำบากขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะจะมีผู้มีส่วนได้เสียมาเกี่ยวข้องเรามากขึ้น ถ้าในแง่คนที่คาดหวังให้เราทำ กับคนที่จะเป็นพันธมิตรหรือเครื่องไม้เครื่องมือทำร่วมกับเรา ซึ่งในอนาคตการทำงาน น่าจะมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงหลายหน่วยงานมากขึ้น แทนที่จะตามไล่จับ ก็มาดูว่า อะไรที่เป็นปัญหา อะไรเป็นความเสี่ยง แล้วรีบวางระบบ ประสานงานร่วมกันใน 3-4 หน่วยงาน ที่รับผิดชอบแต่ละด้าน เพราะทุกคนหวังดีที่อยากให้ระบบอยู่ได้”นายชัยวัฒน์กล่าว
อย่างในแง่การเงินหรือตลาดเงินตลาดทุน เมื่อเร็วๆนี้ มีหลายเรื่องที่สะท้อนว่า ทุกหน่วยงานตื่นตัว และเปิดใจเข้าหากันที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เราคงจำกันได้ว่า มีเรื่องที่หุ้นกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะไม่สามารภชำระหนี้คืนเงินต้นได้ อาจจะถึงขั้นล้มละลาย แล้วจะเกิดภาวะที่คนจะขาดความเชื่อถือในหุ้นกู้ไปทั้งหมด
“ตอนนั้นธปท. ก.ล.ต.และกระทรวงการคลัง มามองปัญหาด้วยกัน เพราะแต่ละคนจะเกี่ยวข้องกันหุ้นกู้หลายลักษณะ ถ้าร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูล จะรู้เลยว่า มีหุ้นกู้อะไรที่จะครบกำหหนด เอาข้อมูลจากแบงก์ชาติมาดูก็จะรู้ว่า เขาเป็นลูกหนี้แบงก์ไหน มีสิทธิ์กู้ยืมแบงก์ชาติมาชดเชยตรงนี้ได้หรือไม่”นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/money_market